มาทำความรู้จักกับภาษีนำเข้ากัน
หัวข้อ

ภาษีนำเข้า เป็นหนึ่งในต้นทุนสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึงเมื่อเริ่มต้นทำธุรกิจนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ การทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบภาษีและข้อกำหนดต่างๆ จะช่วยให้ธุรกิจดำเนินไปได้อย่างราบรื่น และลดความเสี่ยงจากการกระทำผิดที่ส่งผลเสียต่อธุรกิจได้ โดยเฉพาะภาษีนำเข้า ที่มีความซับซ้อนไม่แพ้ภาษีและค่าธรรมเนียมอื่นๆ
มาดูกันว่า ภาษีนำเข้า คืออะไร คำนวณอย่างไร มีภาษีประเภทใดบ้างที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าสินค้า และเคล็ดลับในการบริหารจัดการต้นทุนด้านภาษีอย่างมีประสิทธิภาพ ให้ธุรกิจนำเข้าของคุณประสบความสำเร็จและไร้ซึ่งปัญหาด้านภาษี
ภาษีนำเข้า คืออะไร
ภาษีนำเข้า คือ ภาษีที่รัฐบาลเรียกเก็บจากสินค้าที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในประเทศ ลดการแข่งขันจากสินค้าที่มาจากต่างประเทศ เป็นรายได้ให้แก่รัฐ และใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมการนำเข้าของสินค้าบางประเภท ภาษีนำเข้าจะมีอัตราภาษีที่ขึ้นอยู่กับประเภทของสินค้า เช่น สินค้าฟุ่มเฟือย อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บางประเภทที่มีอัตราภาษีที่สูงกว่าสินค้าประเภทอื่นๆ เป็นต้น
สำหรับธุรกิจนำเข้า-ส่งออก ภาษีนำเข้าถือเป็นหนึ่งในต้นทุนสำคัญของการนำเข้าสินค้าที่ไม่ควรมองข้าม เพราะหากคำนวณค่าใช้จ่ายและภาษีต่างๆ ไม่ถูกต้อง ก็อาจทำให้เกิดข้อผิดพลาดในการกำหนดราคาขายสินค้า หรือขาดทุนโดยที่ผู้ประกอบการไม่ทันรู้ตัว รวมถึงอาจเกิดปัญหาในการจัดการภาษีนำเข้าสินค้าต่างๆ ได้
ภาษีที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าสินค้า มีอะไรบ้าง
ภาษีนำเข้า จะมีค่าภาษีที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 4 อย่างด้วยกัน ได้แก่
1. อากรขาเข้า (Import Duties)
อากรขาเข้า เป็นหนึ่งในภาษีนำเข้าที่จะเรียกเก็บจากสินค้าที่มีมูลค่าเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด โดยคำนวณจากราคา CIF (Cost, Insurance, Freight) ที่ประกอบไปด้วยมูลค่าของสินค้า ค่าประกันภัยสินค้า และค่าขนส่ง แล้วนำมาคูณกับอัตราภาษีอากรขาเข้า ที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับประเภทของสินค้า ที่มีการระบุไว้ในพิกัดศุลกากร หรือ HS Code (Harmonized System Code) ซึ่งเป็นรหัสสากลที่ใช้จำแนกประเภทสินค้าในการค้าระหว่างประเทศ โดยมีทั้งสินค้าที่ได้รับการยกเว้นภาษีอากรขาเข้า และต้องเสียอากรขาเข้าตั้งแต่ 5% ขึ้นไป ขึ้นอยู่กับประเภทสินค้านั้นๆ
วิธีคำนวณอากรขาเข้า
อากรขาเข้า = CIF x อัตราภาษีอากรขาเข้า
2. ภาษีสรรพสามิต (Excise Tax)
ภาษีสรรพสามิต เป็นภาษีนำเข้าที่เรียกเก็บเพิ่มเติมจากสินค้าบางประเภทที่รัฐบาลต้องการควบคุมการบริโภคหรือถือเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ น้ำมัน ยานพาหนะ น้ำหอม เป็นต้น โดยภาษีสรรพสามิตจะมีการเรียกเก็บทั้งจากสินค้าที่ผลิตในประเทศ และนำเข้าจากต่างประเทศ โดยมีอัตราภาษีที่แตกต่างกันตามประเภทสินค้า และยังมีวิธีการคำนวณภาษีที่แตกต่างกันด้วย
วิธีคำนวณภาษีสรรพสามิต
ภาษีสรรพสามิต มีวิธีคำนวณ 2 แบบด้วยกัน ได้แก่
2.1 แบบตามมูลค่า
เป็นการคำนวณตามอัตราร้อยละของมูลค่าสินค้า โดยภาษีสรรพสามิตแบบตามมูลค่าของสินค้านำเข้า มีวิธีคำนวณ ดังนี้
ภาษีสรรพสามิต = ราคาฐานภาษี × อัตราภาษีสรรพสามิต
ราคาฐานภาษี = ราคา CIF + อากรขาเข้า + ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตามที่กำหนด
2.2 แบบตามปริมาณ
เป็นการคำนวณตามหน่วย ตามน้ำหนักสุทธิหรือตามปริมาณสุทธิของสินค้านั้นๆ เช่น บุหรี่ 1 ซอง หรือน้ำมัน 1 ลิตร เป็นต้น โดยภาษีสรรพสามิตแบบตามประมาณของสินค้านำเข้า มีวิธีคำนวณ ดังนี้
ภาษีสรรพสามิต = ปริมาณสินค้า × อัตราภาษีต่อหน่วย
3. ภาษีเพื่อมหาดไทย (Interior Tax)
ภาษีเพื่อมหาดไทย เป็นหนึ่งในภาษีนำเข้าที่ถูกเก็บเพิ่มเติมจากภาษีสรรพสามิต เพื่อนำไปจัดสรรให้กับกรุงเทพมหานคร ราชการส่วนท้องถิ่น และกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรเงินภาษีสุรา โดยอัตราภาษีเพื่อมหาดไทยจะถูกกำหนดไว้ที่ 10% ของภาษีสรรพสามิต
วิธีคำนวณภาษีเพื่อมหาดไทย
ภาษีเพื่อมหาดไทย = ภาษีสรรพสามิต x 10%
4. ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
ภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นภาษีนำเข้าที่ถูกเรียกเก็บจากมูลค่าของสินค้าและบริการ ร่วมกับอากรขาเข้าและภาษีสรรพสามิต (ถ้ามี) โดยในปัจจุบัน อัตรา VAT ของประเทศไทยจะอยู่ที่ 7% และมีวิธีคำนวณ ดังนี้
วิธีคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม
ภาษีมูลค่าเพิ่ม = (ราคา CIF + อากรขาเข้า + ภาษีสรรพสามิต (ถ้ามี) + ภาษีเพื่อมหาดไทย + ค่าธรรมเนียมอื่น ๆ (ถ้ามี)) × 7%
จากที่กล่าวไปข้างต้น จะเห็นได้ว่า ภาษีนำเข้าที่มีการเรียกเก็บนั้น มีการเรียกเก็บหลายเก็บแบบที่แตกต่างกัน และสามารถเพิ่มต้นทุนให้สูงขึ้นจากเดิมได้ไม่น้อย ผู้ประกอบการและผู้ที่ทำงานในธุรกิจนำเข้าจึงควรที่จะศึกษาและเข้าใจโครงสร้างภาษีที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าสินค้าของตนอย่างละเอียดและถี่ถ้วน เพื่อให้สามารถคำนวณต้นทุนได้อย่างถูกต้อง และหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในกระบวนการนำเข้าได้
สินค้าประเภทใดที่ต้องเสียภาษีนำเข้า
โดยทั่วไปแล้ว สินค้าทุกชนิดที่นำเข้ามาในประเทศไทยจะต้องเสียภาษีนำเข้า ยกเว้นสินค้าที่ได้รับการยกเว้นภาษีตามข้อตกลงการค้าเสรีหรือสิทธิประโยชน์ทางภาษีอื่นๆ เช่น การใช้ Form E หรือ หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า เพื่อรับการลดหย่อนภาษีอากรนำเข้า 0% จากสินค้าที่ผลิตและส่งออกจากสมาชิกประเทศใน ACFTA หรือเป็นสินค้าที่ได้รับการยกเว้นอากรนำเข้าตามที่ระบุไว้ในพิกัดศุลกากร เป็นต้น
เคล็ดลับในการดำเนินธุรกิจนำเข้า และการจัดการภาษีนำเข้า
ในการดำเนินธุรกิจนำเข้าให้ประสบความสำเร็จ ผู้ประกอบการควรพิจารณาปัจจัยต่างๆ เกี่ยวกับภาษีนำเข้า เพื่อนำมาลดต้นทุน เพิ่มรายได้ และประสิทธิภาพในการดำเนินงานของตนให้ดียิ่งขึ้น
1. ใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA)
ประเทศไทยมีข้อตกลงการค้าเสรีกับหลายๆ ประเทศ ซึ่งช่วยในการลดหรือยกเว้นภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าบางประเภทได้ ผู้ประกอบการจึงควรตรวจสอบสินค้าของตนก่อนเสมอว่าได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้ข้อตกลงเหล่านี้หรือไม่
2. ตรวจสอบพิกัดศุลกากร (HS Code) ให้ถูกต้อง
การระบุพิกัดศุลกากรให้ถูกต้องมีความสำคัญอย่างยิ่งในการคำนวณภาษีนำเข้า การระบุพิกัดสินค้าผิด เช่น การระบุว่าโฟล์คลิฟท์ อยู่ในพิกัดเดียวกันกับรถยนต์ส่วนบุคคล นอกจากจะทำให้ต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงกว่าที่ควรจะเป็นแล้ว ยังอาจถูกตรวจสอบและลงโทษ หากเจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจพบว่ามีการระบุพิกัดเพื่อเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี
3. ใช้บริการชิปปิ้งที่เชี่ยวชาญ
การใช้บริการตัวแทนชิปปิ้งหรือผู้ให้บริการโลจิสติกส์ที่มีความเชี่ยวชาญ จะช่วยให้กระบวนการนำเข้าสินค้าเป็นไปอย่างราบรื่น ลดความผิดพลาดในการจัดเตรียมเอกสาร และประหยัดเวลาในการดำเนินการทางศุลกากร
4. วางแผนการจัดการคลังสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากการจัดการภาษีที่ถูกต้องแล้ว การมีระบบจัดการพาเลทที่ดี และใช้ชั้นวางพาเลทที่เหมาะสมจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บและจัดการสินค้านำเข้า ลดความเสียหายและประหยัดพื้นที่คลังสินค้า ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนโดยรวมลงได้ไม่น้อย
5. ศึกษากฎระเบียบและข้อบังคับอย่างสม่ำเสมอ
กฎระเบียบและข้อบังคับเกี่ยวกับการนำเข้าและภาษีนำเข้าในประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ผู้ประกอบการจึงควรติดตามข่าวสารและคอยปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
ภาษีนำเข้า เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนและความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจนำเข้า การศึกษาโครงสร้างภาษีที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า และการวางแผนธุรกิจให้สอดคล้องกับกฎระเบียบและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง จึงถือเป็นการสร้างข้อได้เปรียบที่สำคัญ รวมถึงการเลือกพันธมิตรทางธุรกิจที่เชี่ยวชาญ เช่น บริษัทชิปปิ้งที่มีประสบการณ์ และผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ที่มีคุณภาพ จะช่วยให้กระบวนการนำเข้าสินค้าเป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ เพื่อการนำเข้าสินค้าที่ราบรื่น พร้อมต่อยอดธุรกิจต่อไป
บริษัท ยูพีอาร์ (ประเทศไทย) จำกัด จัดจำหน่ายพาเลทพลาสติกและพาเลทไม้สำหรับเช่า/ซื้อ ชั้นวางพาเลท อุปกรณ์จัดเก็บ ฟิล์มยืด ระบบจัดการพาเลท และอุปกรณ์โลจิสติกส์ครบครัน รวมไปถึงบริการโซลูชันด้านโลจิสติกส์ที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัย เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการและผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์
พวกเราพร้อมให้บริการที่รวดเร็ว ครอบคลุม และเป็นมืออาชีพด้วยประสบการณ์มากกว่า 10 ปี ในไทย
ติดต่อเรา
กรอกแบบฟอร์ม: www.upr-thailand.co.th/contact/inquiries/
โทร.: +66-2-672-5100
อีเมล: info-thailand@upr-net.co.jp
บริษัท ยูพีอาร์ (ประเทศไทย) จำกัด > คอลัมน์ > โลจิสติกส์ > มาทำความรู้จักกับภาษีนำเข้ากัน